ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ (13 ต.ค. 2482 - ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) ประจำปี 2549 ภูมิสถาปนิกคนสำคัญของเมืองไทย ผู้บุกเบิกด้านการศึกษาและวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศ ได้ออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง รวมถึง สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์เขตต่างๆ สวนหลวง ร.๙ อุทยานเบญจสิริ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ และอื่นๆ รวมทั้งงานภูมิทัศน์วัดโสธรวรารามวรวิหาร ผังแม่บทภูมิทัศน์เดิมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (พ.ศ. 2537) เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2520 และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยคนแรก รองประธาน คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง และประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษานโยบาย กฎหมาย และโครงสร้างหน่วยงานการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง และเป็นเจ้าของสำนักงานภูมิสถาปนิกแห่งแรกของประเทศไทย ชื่อบริษัทสำนักงานภูมิสถาปนิก ดี เอส บี แอสโซสิเอส (DSB Associates)
ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา ยังได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็น 1 ใน 12 คณะวุฒยาจารย์ (คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ หรือ กพว.เดิม) โดยสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติผลการสรรหาและแต่งตั้งแล้ว ตาม ม. 23 ของ พรบ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551
ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ เกิดที่จังหวัดเชียงราย จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 2498 เตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2500 หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2506 แล้ว ได้เริ่มทำงานในตำแหน่งสถาปนิกโทกองแบบแผน กรมโยธาเทศบาล หรือกรมโยธาธิการและผังเมืองในปัจจุบัน เป็นเวลา 5 ปี จึงได้ลาไปศึกษาต่อปริญญาโทสาขาภูมิสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญา Master of Landscape Architecture เมื่อปี พ.ศ. 2513 หลังจากกลับมารับราชการต่อที่กรมโยธาเทศบาล (ปัจจุบันคือกรมโยธาธิการและผังเมือง) ได้ 2 ปีจึงได้โอนไปดำรงตำแหน่งวิทยากรโท สำนักนโยบายและแผน ฝ่ายสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น
ปี พ.ศ. 2517 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ขอรับโอนศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำมาดำรงตำแหน่งอาจารย์โทในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยมอบหมายให้เป็นผู้ร่างหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรี พร้อมทั้งได้ดำเนินการร่างหลักสูตรเมื่อ พ.ศ. 2518 และจัดตั้งภาค(แผนก)วิชาภูมิสถาปัตยกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2520 และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาคนแรกเป็นเวลา 6 ปี ต่อจากนั้นได้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการและตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ต่อเนื่องมาเป็นลำดับ ได้ร่วมก่อตั้งสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 ได้รับการโปรดเกล้าเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมและเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2543
ปี พ.ศ. 2544 ได้รับพระราชทานกิตติบัตรเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และต่อมาได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาประจำปี พ.ศ. 2546 สาขาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำเป็นภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน สาขาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์
ปี พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2549 ในสาขาทัศนศิลป์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.)และได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และในปีเดียวกันก็ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 12 กรกฎาคม
ปี พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2556
ปี พ.ศ. 2558เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ผลงานสำคัญของศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำรวมทั้งการบุกเบิกวิชาชีพและการวางรากฐานการศึกษาภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศไทย ได้เปิดสำนักงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมแห่งแรกของประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2530 ได้ก่อตั้งสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทยขึ้น และดำรงตำแหน่งนายกสมาคม 1 วาระ ทางด้านการพัฒนาวิชาชีพภูมิสถาปนิก ศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา ยังเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาสถาปนิก เพื่อร่างกฎหมาย ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติวิชาชีพ หลักสูตร แนวทางในการพัฒนาวิชาชีพในสาขาภูมิสถาปัตยกรรมและสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง และปัจจุบันได้รับการคัดสรรเป็นผู้ตรวจสภาสถาปนิก
ตัวอย่างผลงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 4-5 แห่ง รวมทั้งที่จังหวัดศรีสะเกษ, สวนหลวง ร.๙ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อุทยานเบญจสิริ ภูมิทัศน์พระตำหนักสิริยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมโรงแรม คอนโดมิเนียม และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ผลงานเขียนชิ้นหลักคือ ตำราการปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม และหนังสือชื่อ 'ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง' ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ งานรุกขกรรม อาชีพรุกขกร และการศัลยกรรมต้นไม้ นายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี) ได้เขียนคำนิยมหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า
คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จัก เข้าใจ และมองเห็นถึงตัวตนที่แจริงและความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ ตลอดจนวิธีการที่จะรักษาต้นไม้ใหญ่ทุกชนิดในผืนดิน ซึ่งมันพร้อมที่จะบอกกล่าวและแสดงออกถึงความขอบคุณต่อความอบอุ่นและมิตรไมตรีที่เราทั้งหลายได้มอบให้และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองและมนุษย์ชาติตลอดไป
ผลงานแปล ได้แก่ หนังสือ ปรับความคิด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ใน 25 วัน : 25 Days to Better Thinking & Better Living ISBN 978-6-160-82158-7 สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น ในปี พ.ศ. 2554 ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็น 1 ใน 12 คณะวุฒยาจารย์ ตาม ม. 23 พรบ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551 (ฉบับใหม่)คณะวุฒยาจารย์มีหน้าที่พิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย